Group Lesson VS Private Lesson

สำหรับนักกีฬาทุกคน การฝึกซ้อมกีฬาเป็นสิ่งที่สำคัญซึ่งจำเป็นต้องใช้โค้ชผู้เชี่ยวชาญเพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคนิคแก่นักกีฬา ในปัจจุบันนักกีฬามีทางเลือกมากมายในการเลือกรูปแบบการเทรน ไม่ว่าจะเป็นแบบกลุ่มในสถาบันฝึกสอนกีฬา หรือว่าจ้างโค้ชเพื่อดูแลส่วนตัว วันนี้เราจะมาพูดถึงข้อดี ข้อเสียของการเทรนเป็นกลุ่ม และการเทรนแบบมีโค้ชส่วนตัวกัน ในมุมมองของโค้ชผู้สอน นักจิตวิทยาด้านกีฬา และผู้ปกครองนักกีฬาเยาวชนกันค่ะ โดยวันนี้เราจะพูดถึงนักกีฬาเยาวชนที่วางแผนจะเล่นกีฬาในมหาวิทยาลัยเท่านั้นนะคะ เพราะนักกีฬามหาวิทยาลัยจะมีเรื่องอื่นๆที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้การเล่นกีฬา เช่น การเรียน และสังคมในรั้วมหาวิทยาลัย


สำหรับกีฬาที่เล่นเป็นทีม แน่นอนว่าการฝึกซ้อมร่วมกับทีมเป็นสิ่งจำเป็นเพราะ นักกีฬาไม่สามารถเก่งอยู่คนเดียวแล้วทำให้ทีมมีผลงานที่ดีได้ ทุกคนในทีมต่างก็ต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการแข่งขันทั้งนั้น ถึงกระนั้นก็แน่นอนว่า ความโดดเด่นของนักกีฬาแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน นักกีฬาต้องพยายามเพิ่มทักษะในตำแหน่งที่ตัวเองเล่นเพื่อให้เป็นที่สนใจ แต่สำหรับกีฬาที่เล่นเดี่ยว เช่น เทนนิส หรือ กอล์ฟ การเทรนกับโค้ชส่วนตัวดูเหมือนจะตอบโจทย์ตรงนี้มากกว่า แต่จากการประสบการณ์และการพูดคุยกับนักกีฬา ผู้ปกครอง และบุคลากรอื่นที่เกี่ยวข้อง บางทีการเทรนแบบกลุ่มก็อาจจะให้ประโยชน์ที่เราคาดไม่ถึงเช่นกัน


จากประสบการณ์ที่ทำงานกับนักกีฬาเยาวชนมาเป็นเวลานาน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเป็นอย่างมากก็คือ เด็กต่างชาติที่อยู่ด้วยตนเองเกือบจะทุกคนที่เทรน และศึกษาระดับมัธยมอยู่ในอเมริกามักจะประสบความสำเร็จในการเล่นกีฬาในระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปีแรกๆ ทั้งๆที่ส่วนมากมักจะเรียนในโรงเรียนกีฬาซึ่งจัดโปรแกรมเทรนแบบกลุ่ม ในขณะที่นักกีฬาที่ย้ายมาจากต่างประเทศมักจะใช้เวลาปรับตัวมากกว่าทั้งๆ ที่ทำผลงานในระดับเยาวชนได้ดีกว่ามาก และส่วนมากได้รับการเทรนแบบตัวต่อตัว ทำไม? เราจึงเอาคำถามนี้ไปถามนักจิตวิทยาด้านกีฬาค่ะ การเทรนแบบส่วนตัว ให้ประโยชน์อย่างมากสำหรับนักกีฬา ในแง่ของการพัฒนาเทคนิคด้านการเล่น เพราะโปรแกรมที่นำมาใช้นั้น ออกแบบมาสำหรับนักกีฬาคนนั้น ในขณะที่การเทรนแบบกลุ่มที่ใช้โปรแกรมแบบเดียวกัน อาจจะให้ประโยชน์สำหรับนักกีฬาไม่มากนัก เพราะนักกีฬาแต่ละคนต้องการพัฒนาทักษะที่ต่างกันจูเลียนแอนน์ กัสติ ดอกเตอร์ด้านจิตวิทยาการกีฬากล่าว แต่ก็มีสิ่งที่ต้องระวังคือ หากนักกีฬาพึ่งพาโค้ชมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดผลเสียกับนักกีฬาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนักกีฬาเยาวชนที่ต้องการจะเล่นกีฬาในมหาวิทยาลัย เพราะโค้ชส่วนตัวเหล่านั้นไม่สามารถที่จะอยู่กับนักกีฬาได้ตลอดเวลาเหมือนตอนเป็นนักกีฬาเยาวชนเราจึงถามต่อไปว่า แล้วทำไมนักกีฬาที่อยู่ห่างจากบ้านจึงปรับตัวได้เร็วกว่าในระดับมหาวิทยาลัย เธอตอบว่าการเปลี่ยนจากการเรียนมัธยมไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับเด็กทุกคน ไม่ใช่เฉพาะสำหรับนักกีฬา เด็กที่อยู่ห่างครอบครัวมีประสบการณ์การอยู่คนเดียวแล้วจึงไม่มีความกังวลมากนัก สำหรับนักกีฬา นี่จะเป็นสิ่งที่ยากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากจะต้องรับความเปลี่ยนแปลงในการที่อยู่ห่างจากบ้านแล้ว ยังจะต้องรับความเปลี่ยนแปลงในการที่จะต้องเล่นกีฬาโดยไม่มีโค้ชที่เค้าวางใจอีกด้วย หากในช่วงมัธยมนักกีฬาพึ่งพาโค้ชมากเกินไป ก็ยิ่งเป็นการยากขึ้นไปอีก นักกีฬาอาจจะขาดความมั่นใจซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับนักกีฬาแต่ละคนว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไร


ในขณะที่การเทรนแบบกลุ่ม นักกีฬามักจะไม่ได้รับความสนใจจากโค้ชอย่างเต็มที่เพราะโค้ชต้องแบ่งเวลาไปดูแลนักกีฬาคนอื่น ซึ่งนักกีฬาบางคนจะรู้สึกว่า หากเค้าได้รับการสนใจจากโค้ชมากกว่านี้ จะทำให้เค้ามีผลงานได้ดีกว่านี้ จริงๆแล้ว มันก็ใช่ค่ะ แน่นอนการเทรนแบบกลุ่มนักเรียนไม่มีทางที่จะได้รับความสนใจจากโค้ช 100% แต่จากการศึกษา สมองของคนเรามีข้อจำกัดในการจดจำสิ่งต่างๆ นอกจากนั้นเรายังสามารถเก็บสิ่งเหล่านั้นได้ในเวลาไม่กี่วินาที คนเราจะลืมสิ่งที่เรียนรู้ประมาณ 40% ภายในวันเดียวที่เรียน หากไม่มีการทวนซ้ำ หรือจดบันทึก ก็เหมือนกับการเรียนกีฬา นักกีฬาส่วนมากใช้เวลาแค่ในช่วง 10 นาทีแรกในการเรียนรู้ หลังจากนั้นนักกีฬาจะใช้เวลาไปกับการฝึกซ้อมเพื่อให้เกิดความจำ นักกีฬาส่วนมากจะรู้สึกอุ่นใจกว่าหากมีโค้ชยืนดูอยู่ข้างๆ คอยแนะนำจนบางครั้งทำให้นักกีฬาเกิดความเคยชิน ไม่สามารถฝึกซ้อม หรือแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ ในขณะที่การเทรนแบบกลุ่ม โค้ชจะสอนนักกีฬา แนะวิธีฝึกซ้อม ทิ้งให้นักกีฬาซ้อมด้วยตนเอง กลับมาดูว่านักกีฬาทำถูกต้องไหม ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักกีฬาได้พึ่งพาตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเองได้ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับนักกีฬาเยาวชนที่จะก้าวไปเล่นในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นประโยชน์ในการมีโค้ชส่วนตัวตลอดเวลา น่าจะให้ประโยชน์ด้านจิตใจมากกว่า การเรียนรู้เทคนิคเพิ่มเติม เอ็ด เลอโบ โค้ชกอล์ฟผู้ก่อตั้งโรงเรียนกอล์ฟฮาร์ทแลนด์กอล์ฟสคูลในอเมริกาได้กล่าวไว้ว่า ส่วนมากเวลาที่ผมสอนกอล์ฟ ผมมักจะให้บทเรียนด้านเทคนิคแค่ครั้งละอย่างให้แก่นักเรียนซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที หลังจากนั้นจะเป็นการให้นักเรียนฝึกทำซ้ำเพื่อให้เกิดความเคยชิน และคอยดูให้นักเรียนฝึกฝนให้ถูกวิธีเพื่อที่เค้าจะสามารถไปฝึกต่อได้เองในอนาคต


เราได้คุยกับผู้ปกครองอดีตนักกีฬาเยาวชนเทนนิสคนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เค้าได้กล่าวว่า ลูกผมโตขึ้นโดยเล่นกีฬาทุกคน บ้านเราไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ดังนั้นเราจึงทุ่มเทกับลูกมากด้วยความใฝ่ฝันอยากให้ลูกเติบโตมาเป็นนักกีฬาอาชีพ ผมเลือกโค้ชที่เก่งที่สุดให้เค้า โดยโค้ชบอกว่า ถ้าลูกผมเรียนตัวต่อตัวกับเค้าสัปดาห์ละ 4 ครั้งลูกผมจะได้แชมป์ ซึ่งก็จริงในช่วงระดับเยาวชนลูกผมเก่งมาก เพราะผมจ้างโค้ชให้เดินทางไปร่วมแข่งขันในทุกรายการ หลังจากนั้นผมเริ่มสังเกตว่า ถ้าลูกผมเกิดความผิดพลาดในสนาม ลูกผมจะทำอะไรไม่ถูกถ้าไม่มีโค้ชและเริ่มไม่มีสังคม ผมจึงเริ่มคิดว่าบางทีนี่อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีสุด เพราะผมอยากให้ลูกผมสามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในและนอกสนาม ผมเลยลองให้ลูกเริ่มเทรนร่วมกับเด็กอื่น ลูกผมใช้เวลาปรับตัวเยอะมาก เล่นแย่ลงในช่วงแรก แต่ค่อยๆดีขึ้น ไม่เก็บตัวเหมือนก่อน มีสังคม และตอนนี้ก็มีความสุขและปรับตัวได้ดีในมหาวิทยาลัย


สรุปได้ว่า การเทรนแบบตัวต่อตัวกับโค้ชมีข้อดีมากมาย แต่อย่าลืมว่า สิ่งนี้ก็เหมือนดาบสองคม อะไรที่มากเกินไป หรือ น้อยเกินไปก็อาจทำให้เกิดผลเสียได้ การเล่นกีฬาในมหาวิทยาลัย นักกีฬาจะมีหลายสิ่งหลายอย่างให้รับผิดชอบ ไม่เฉพาะแค่เรื่องกีฬาเท่านั้น นักกีฬายังต้องรักษาความสมดุลในเรื่องการเรียนและสังคมอีกด้วย หากนักกีฬาเคยชินกับการพึ่งพาตัวเองตั้งแต่เด็ก (independent) นักกีฬาก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จสูงในการเล่นกีฬามหาวิทยาลัยค่ะ สำหรับนักกีฬาเยาวชน ซึ่งยังมีทางเดินในอนาคตอีกยาวไกล การเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ในด้านอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเด็กเอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบุคลิกภาพ การสร้างตัวตน เพิ่มความมั่นใจ ทำให้เด็กสามารถพึ่งพาตนเองได้ การส่งเสริมการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ให้ลองเล่นกีฬาอื่นๆ เรียนรู้ในสิ่งที่อยากเรียนรู้ ก็ปูพื้นฐานให้กับตัวเด็กเองสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต


ทั้งนี้ทั้งนั้น นักกีฬาแต่ละคนมึความแตกต่างกัน วิธีการที่จะเดินทางไปสู่ความสำเร็จขึ้นอยู่กับคาแรคเตอร์ของนักกีฬาแต่ละคนค่ะ

 

 

 

 

 

Visitors: 32,942